วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นางพญาเสือโคร่ง

บนยอดดอยสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1000 เมตร ขึ้นไป อากาศที่หนาวจับใจในเดือนกุมภาพันธ์ หมอกสีเทาก็ยังคงปกคลุมยอดดอย แต่พอสีทองเริ่มโผล่มาที่ของฟ้า ทุกสรรพสิ่งเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีทันใด

นางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพูเบ่งบานไปทุกกิ่งก้าน อวดโฉมผู้คนต่างถิ่นที่ดั้นด้นเดินทางขึ้นมาชื่นชมความงดงามของมัน นักท่องเที่ยวทำทุกกิจกรรมที่จะเก็บความงดงามเอาไว้กลับไปอวดเพื่อนฝูง ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ และเป็นไปได้ ก็คงอยากจะขุดเอาต้นไปฝากคนที่บ้าน

ถึงแม้ว่านางพญาเสือโคร่งจะเติบโตได้ดีเมื่อปลูกบนดอยสูง แต่ใช่ว่าพื้นราบจะปลูกไม่ได้ เพราะทางสวนสมสุขเองก็ได้ปลูกไว้เมื่อประมาณ 1-2 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันความสูงของต้นอยู่ที่ประมาณ 2-3 เมตร ก็ปรากฏว่าเริ่มออกดอกแล้วแต่ยังโตไม่เต็มที่ ลองยลกันดู


 
 
ชื่อพันธุ์ไม้:  นางพญาเสือโคร่ง
ชื่อสามัญ: ฉวีวรรณ, ชมพูภูพิงค์ (เหนือ) เส่คาแว่, เส่แผ่, แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ซากุระดอย (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาตร์: Prunus cerasoides D. Don
ชื่อวงศ์: Rosaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:  ไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร
  • ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5 -12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย
  • ดอก สีขาว ชมพู หรือดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร
  • ผล รูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 เซ็นติเมตร เมื่อสุกสีแดง
ระยะเวลาออกดอก: ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก
การขยายพันธุ์: เมล็ด
การใช้ประโยชน์: ผลรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น