วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

มะกรูด

มะกรูด หนึ่งในไม้สวนครัวที่อยากแนะนำให้ควรปลูกไว้ติดบ้าน

มะกรูดช่วยให้ผมดำเงางาม กำจัดรังแค แก้คันศรีษะ แก้ผมแตกปลาย ป้องกันผมร่วง และหงอกช้า สรรพคุณทางยา ก็มีมากโดยผลสด ผิวมะกรูด มีกลิ่นหอมร้อน แก้ลมหน้ามืด บำรุงหัวใจ ขับระดู ขับลม ส่วนผลที่มีรสเปรี้ยว ก็ใช้ขับเสมหะ ฟอกเลือด สระผมขจัดรังแค รากใช้แก้พิษฝีภายใน ใบ แก้ช้ำใน ดับกลิ่นคาว

มะกรูดจัดเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ในบ้านโดยปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัย มีความสุข

ด้วยสรรพคุณและความต้องการพืชสมุนไพรชนิดนี้ มะกรูดจึงนิยมปลูกเพื่อการพาณิชย์มากยิ่งขึ้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะกรูดเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน

ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันอยู่ตามผิวใบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ ก้านใบมีปีกดูคล้ายใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง

ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 แฉก โคนกลีบดอกติดกัน ผล เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลเรียวเป็นจุก ผิวขรุขระ มีต่อมน้ำมัน ผลอ่อนสีเขียวแก่ สุกเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด

การปลูกและการเตรียมดิน
การปลูกมะกรูดก็เหมือนการปลูกไม้ผลทั่วไป ขุดหลุมกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวผสมดิน กรีดถุงดำออก นำต้นกล้าลงปลูก กลบดิน รดน้ำ คลุมฟาง และทำหลักปักกับต้นเพื่อกันโยกเวลาลมพัด

มะกรูดเป็นพืชทนแล้ง ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ก็ไม่ชอบน้ำขัง การปลูกควรเลือกดินร่วนปนทราย หรือพื้นที่ที่มีการระบายน้ำที่ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม-มะกรูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.

ชื่อสามัญ : Leech lime, Mauritus papeda

วงศ์ : Rutaceae

ชื่ออื่น : มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้)

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

สนสามใบ

สนสามใบมักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติบนดอยสูงซึ่งช่วยอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร แต่นั่นก็ไม่เพียงพอต่อการอนุรักษ์ผืนป่าที่ถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว สนสามใบจึงเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่นำไปปลูกเพื่อเพิ่มผืนป่าอีกด้วยอีกทั้งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเลย

สนสามใบยังใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยนำไม้ใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของเล่นเด็กที่ทำด้วยไม้เพื่อส่งนอก ด้วยเนื้อไม้มีสีค่อนข้างขาวจึงเป็นที่นิยมของตลาดในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา นอกจากนี้แล้วยังนำไปทำเยื่อกระดาษ ส่วนยางนำไปกลั่นเป็นน้ำมัน ทำชันสนใช้ผสมยารักษาโรค รวมทั้งน้ำมันใช้ผสมยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย

ลักษณะของไม้

เป็นไม้ยืนต้น สูง 10–30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม

เปลือก สีน้ำตาล อมชมพูอ่อน แตกสะเก็ดขนาดใหญ่ มักมียางสีเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก

ใบ ใบเดี่ยวออกติดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ใบ จึงได้ชื่อว่าสนสามใบ รูปเข็ม มีความยาว 10 - 25 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกช่วงพฤศจิกายน - มีนาคม

ผล ออกรวมกันเป็นกลุ่ม รูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง ประมาณ 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร เมล็ดขนาดเล็กมีปีก

ถิ่นกำเนิดในพม่า ขึ้นเป็นกลุ่มบนเขาหรือเนินเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 - 1,600 เมตร

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด

การปลูก สนสามใบไม่ชอบน้ำขัง หากน้ำขังแล้วจะทำให้รากเน่าตาย ดังนั้นควรปลูกสภาพที่เหมาะสม ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย

ระยะการปลูก

ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร นิยมปลูกกันที่ระยะ 4 x 4 เมตร (100 ต้น/ไร่) เพื่อให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นสีเขียวโดยเร็ว

ปลูกเพื่อการพาณิชย์ ปลูกในระยะ 5 x 3 เมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้นไม้ 176 ต้น/ไร่ แต่หากการปลูกในเชิงวนเกษตร โดยมีการปลูกพืชอื่นๆ ควบระหว่างแถวด้วยนั้น ระยะปลูกจะต้องห่างขึ้นด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม-สนสามใบ

ชื่อสามัญ Kesiya pine, Khasiya pine

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinus kesiya Royle ex Gordon

วงศ์ PINACEAE

ชื่ออื่น เกี๊ยะเปลือกแดง (ภาคเหนือ), เกี๊ยะเปลือกบาง (เชียงใหม่), จ๋วง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เชี้ยงบั้ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แปก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน-เพชรบูรณ์), สนเขา สนสามใบ (ภาคกลาง)

มะนาวตาฮิติ


ขึ้นชื่อว่ามะนาวก็เปรี้ยว...จี๊ด สุดใจ แต่มะนาวตาฮิติ นี่สิ มีลักษณะเด่นที่พิเศษกว่ามะนาวพันธฺุ์อื่น ๆ ที่ ลูกใหญ่ น้ำเยอะ ไม่มีเมล็ด เปลือกหนา น้ำหอมแต่น้อยกว่ามะนาวแป้นนิดหนึ่ง

ผลมะนาวตาฮิติ เก็บในห้องอุณหภูมิปกติไม่แช่ตู้เย็น จะอยู่ได้เป็นเวลา 7-10 วัน โดยเปลือกยังคงเป็นสีเขียวอยู่ ผลจะนิ่มขึ้น น้ำมากขึ้น หากเก็บใส่ตู้เย็นก็จะอยู่ได้นานถึง 2 เดือนเลย

มะนาวตาฮิติ มีคุณสมบัติต้านทานโรคแคงเกอร์ได้ดี คนปลูกมะนาวพันธฺ์นี้สบายใจได้ว่าไม่มีแมลงมาเบียดเบียน

หน้าฝนนี้ก็เหมาะอย่างยิ่งกับการปลูกมะนาวตาฮิติ เพราะติดง่าย ใครสนใจก็หาไปปลูกได้นะ

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วาสนาอธิษฐาน

คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นวาสนาอธิษฐาน จะเกิดความสุข และสมหวังในชีวิต

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นวาสนาอธิษฐานไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคาร เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทางใบ ให้ปลูกในวันอังคาร

ถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นสภาพสตรี เพราะวาสนาอธิษฐานเป็นชื่อที่เหมาะสมกับสุภาพสตรี

ลักษณะ

วาสนาอธิฐานจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-10 เมตร ลำต้นกลม ต้นตรง ไม่มีกิ่งก้าน ลำต้นเป็นข้อถี่ ผิว เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล

ใบ ใบเดี่ยวแตกออกมาจากลำต้น ส่วนยอดเรียงซ้อนกันเวียนรอบลำ ต้นเป็นรูปวงกลม ใบเรียวยาว ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ผิวเกลี้ยงเป็นมันสีเขียว ตัวใบโค้งงอ ขนาดใบกว้างประมาณ 3-6 ซ.ม.

ดอก มีสีขาวหรือสีเหลืออ่อน มีกลิ่นหอมฉุน ออกดอกในฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม

วิธีการปลูก

ปลูกลงดิน เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน
ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร
ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตราส่วน 1 : 2 ผสมดินปลูก

การปลูกในกระถาง เพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร
ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 10-18 นิ้ว
ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดิน

ปลูก ควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปี/ครั้ง หรือแล้วแต่ความเหมาะสม

การดูแลรักษา

วาสนาอธิษฐาน ต้องการแสงแดดอ่อนรำไรจนถึงแสงแดดจัดรดน้ำ อย่างน้อย 5-7 วัน/ครั้ง

ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 5-6 ครั้ง

ลักษณะเด่นอีกอย่าง คือถ้าส่วนใบได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ จะทำให้สีสันของใบสวยงามยิ่งขึ้น

การปลูกวาสนาถือเป็นโชคสองชั้นถ้าดูแลแล้วก็จะดีโชคดีไปด้วยเพราะเป็นไม้เสี่ยงทาย หากผู้ใดดูแลรักษารดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอย่างดี จนต้นวาสนาออกดอก ก็เชื่อว่าจะช่วยให้คนในครอบครัวนั้นได้รับโชคลาภ สาธุ.

✳ วาสนาอธิฐาน-เพิ่มเติม

ชื่อสามัญ Queen of Dracaenas
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena goldieana
ชื่อวงศ์ Agavaceae
ชื่ออื่น มังกรหยก,ประเดหวี

หูกระจง

ต้นหูกระจงหรือเรียกให้เป็นมงคลกับปาก คือ ต้นแผ่บารมี (Terminalia ivorensis Chev.)

หูกระจงเป็นไม้ทรงพุ่มที่ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี แตกกิ่งเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 50-100 ซม. เป็นไม้โตเร็ว ผลัดใบและอายุยืน นิยมนำมาตกแต่งสวน และประดับริมถนน

ลักษณะ
ใบ มีขนาดเล็กคล้ายกับหูกวางแต่มีขนาดเล็กกว่า เลยได้ชื่อว่าหูกระจง
ดอก มีสีขาวคล้ายดอกกระถินณรงค์
เมล็ด คล้ายกับเมล็ดพุทรา
การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ดเนื่องจากเจริญเติบโต ได้เร็ว และได้ทรงพุ่มที่สวยงาม

ในบ้านเรามีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ
1. หูกระจงธรรมดา - นิยมซื้อไปปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุด
2. หูกระจงหนาม - มีทรงพุ่มที่สวยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ใบขึ้นเงาและหนาแน่น เหมาะกับปลูกเป็นไม้กระถาง แต่ด้วยความเชื่อเรื่องหนามว่าไม่เป็นมงคลต่อผู้ปลูก ทำให้ไม่ได้รับความสนใจ
3. หูกระจงแคระ - ค่อนข้างหายาก และราคาแพง

การเลือกต้นหูกระจง

หากเป็นชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ก็แนะนำให้ซื้อที่เป็นต้นกล้าไปปลูกเพราะเป็นไม้ที่โตไวรอไม่นานและจัดแต่งให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ

หากรอไม่ไหวใจร้อนหรือต้องการต้นโตเลยเพื่อนำมาตกแต่งสวน หรือตกแต่งภูมิทัศน์แนะนำให้เลือกไม้ที่มีขนาดของลำต้น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 นิ้วฟุตขึ้นไป ราคาซื้อ-ขาย มักจะยึดตามขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นเป็นหลัก ซึ่งต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว จะมีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท

การปลูกและดูแล
ปลูกลงดิน หรือปลูกในกระถางก็ได้ เป็นไม้โตไว
เคล็ดลับการดูแล รดน้ำให้ชุ่มและสม่ำเสมอ ใบจะไม่ค่อยร่วง

เพิ่มเติม-ต้นหูกระจง
ถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าแอฟริกาตะวันตก แถบเส้นศูนย์สูตร ตั้งแต่ประเทศกีนี ไปจนถึงประเทศแคเมอรูน เป็นพืชเศรษฐกิจ มีการปลูกเพื่อใช้เนื้อไม้ ในแถบถิ่นกำเนิด เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีอายุยืน

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Plantae
ส่วน Magnoliophyta
ชั้น Magnoliopsida
อันดับ Myrtales
วงศ์ Combretaceae
สกุล Terminalia
สปีชีส์ T. ivorensis

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ลีลาวดี



เด็กๆ รุ่นใหม่คงคุ้นหูกับชื่อ "ลีลาวดี" แต่คนรุ่นเก่าก่อนๆ จะคุ้นหูกับชื่อ "ลั่นทม"

สมัยก่อนคนโบราณมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกต้นลั่นทมในบ้าน ด้วยชื่อที่อัปมงคล ไปพ้องเสียงกับคำว่า ระทม ซึ่งหมายถึง เศร้าโศก ทุกข์ใจ ดังนั้นจึงได้มีการเรียกชื่อเสียใหม่ให้เป็นมงคล ว่า ลีลาวดี

พอได้เปลี่ยนชื่อเป็น ลีลาวดี ก็ได้รับความนิยมมาก นำมาปลูกในบ้านกันอย่างแพร่หลาย บ้านใครไม่ปลูกไว้ดูจะเชยสุดๆ

 

บางคนก็เรียกว่า จำปาลาว สมัยก่อนเห็นแต่ดอกสีขาวเกสรสีเหลืองนวล กลิ่นหอมอ่อนๆ แต่เดี๋ยวนี้มีหลายสีมาก เหลืองอ่อน แดง ชมพู ฯลฯ ชอบสีไหน ก็เลือกมาปลูกได้กันตามใจชอบ

ป.ล. แล้วภาพลีลาวดี ก็มาจากสวนสมสุขเราเอง






วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นางพญาเสือโคร่ง

บนยอดดอยสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1000 เมตร ขึ้นไป อากาศที่หนาวจับใจในเดือนกุมภาพันธ์ หมอกสีเทาก็ยังคงปกคลุมยอดดอย แต่พอสีทองเริ่มโผล่มาที่ของฟ้า ทุกสรรพสิ่งเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีทันใด

นางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพูเบ่งบานไปทุกกิ่งก้าน อวดโฉมผู้คนต่างถิ่นที่ดั้นด้นเดินทางขึ้นมาชื่นชมความงดงามของมัน นักท่องเที่ยวทำทุกกิจกรรมที่จะเก็บความงดงามเอาไว้กลับไปอวดเพื่อนฝูง ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ และเป็นไปได้ ก็คงอยากจะขุดเอาต้นไปฝากคนที่บ้าน

ถึงแม้ว่านางพญาเสือโคร่งจะเติบโตได้ดีเมื่อปลูกบนดอยสูง แต่ใช่ว่าพื้นราบจะปลูกไม่ได้ เพราะทางสวนสมสุขเองก็ได้ปลูกไว้เมื่อประมาณ 1-2 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันความสูงของต้นอยู่ที่ประมาณ 2-3 เมตร ก็ปรากฏว่าเริ่มออกดอกแล้วแต่ยังโตไม่เต็มที่ ลองยลกันดู


 
 
ชื่อพันธุ์ไม้:  นางพญาเสือโคร่ง
ชื่อสามัญ: ฉวีวรรณ, ชมพูภูพิงค์ (เหนือ) เส่คาแว่, เส่แผ่, แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ซากุระดอย (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาตร์: Prunus cerasoides D. Don
ชื่อวงศ์: Rosaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:  ไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร
  • ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5 -12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย
  • ดอก สีขาว ชมพู หรือดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร
  • ผล รูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 เซ็นติเมตร เมื่อสุกสีแดง
ระยะเวลาออกดอก: ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก
การขยายพันธุ์: เมล็ด
การใช้ประโยชน์: ผลรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว