วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

สนสามใบ

สนสามใบมักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติบนดอยสูงซึ่งช่วยอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร แต่นั่นก็ไม่เพียงพอต่อการอนุรักษ์ผืนป่าที่ถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว สนสามใบจึงเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่นำไปปลูกเพื่อเพิ่มผืนป่าอีกด้วยอีกทั้งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเลย

สนสามใบยังใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยนำไม้ใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของเล่นเด็กที่ทำด้วยไม้เพื่อส่งนอก ด้วยเนื้อไม้มีสีค่อนข้างขาวจึงเป็นที่นิยมของตลาดในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา นอกจากนี้แล้วยังนำไปทำเยื่อกระดาษ ส่วนยางนำไปกลั่นเป็นน้ำมัน ทำชันสนใช้ผสมยารักษาโรค รวมทั้งน้ำมันใช้ผสมยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย

ลักษณะของไม้

เป็นไม้ยืนต้น สูง 10–30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม

เปลือก สีน้ำตาล อมชมพูอ่อน แตกสะเก็ดขนาดใหญ่ มักมียางสีเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก

ใบ ใบเดี่ยวออกติดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ใบ จึงได้ชื่อว่าสนสามใบ รูปเข็ม มีความยาว 10 - 25 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกช่วงพฤศจิกายน - มีนาคม

ผล ออกรวมกันเป็นกลุ่ม รูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง ประมาณ 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร เมล็ดขนาดเล็กมีปีก

ถิ่นกำเนิดในพม่า ขึ้นเป็นกลุ่มบนเขาหรือเนินเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 - 1,600 เมตร

ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด

การปลูก สนสามใบไม่ชอบน้ำขัง หากน้ำขังแล้วจะทำให้รากเน่าตาย ดังนั้นควรปลูกสภาพที่เหมาะสม ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย

ระยะการปลูก

ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร นิยมปลูกกันที่ระยะ 4 x 4 เมตร (100 ต้น/ไร่) เพื่อให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นสีเขียวโดยเร็ว

ปลูกเพื่อการพาณิชย์ ปลูกในระยะ 5 x 3 เมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้นไม้ 176 ต้น/ไร่ แต่หากการปลูกในเชิงวนเกษตร โดยมีการปลูกพืชอื่นๆ ควบระหว่างแถวด้วยนั้น ระยะปลูกจะต้องห่างขึ้นด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม-สนสามใบ

ชื่อสามัญ Kesiya pine, Khasiya pine

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinus kesiya Royle ex Gordon

วงศ์ PINACEAE

ชื่ออื่น เกี๊ยะเปลือกแดง (ภาคเหนือ), เกี๊ยะเปลือกบาง (เชียงใหม่), จ๋วง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เชี้ยงบั้ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แปก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน-เพชรบูรณ์), สนเขา สนสามใบ (ภาคกลาง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น